BLOGGER TEMPLATES - TWITTER BACKGROUNDS »

วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ศัพท์เฉพาะเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้าน



ศัพท์เฉพาะเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้าน

ศัพท์เฉพาะเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้านที่ควรทราบมีดังนี้

พ่อเพลง หมายถึง ผู้ร้องเพลงนำในเพลงโต้ตอบของฝ่ายชายของชาวภาคกลาง
แม่เพลง หมายถึง ผู้ร้องเพลงนำในเพลงโต้ตอบของฝ่ายหญิง
คอต้น หมายถึง ผู้ร้องเพลงโต้ตอบคนแรก
คอสอง คอสาม หมายถึง ผู้ร้องคนที่สอง ที่สาม ตามลำดับ
ช่างซอ หมายถึง ผู้ร้องเพลงพื้นบ้านของภาคเหนือทั้งชายและหญิง
คู่ถ้อง หมายถึง ช่างซอที่มารวมวงร้องเพลงโต้ตอบกัน

หมอลำ หมายถึง ผู้ร้องเพลงพื้นบ้านภาคอีสานทั้งชายและหญิง
หมอเพลง หมายถึง ผู้ร้องเพลงโคราชทั้งชายและหญิง
แม่คู่ หรือ แม่เพลง หมายถึง ผู้ร้องเพลงพื้นบ้านภาคใต้ทั้งชายและหญิง
ท้ายไฟ หมายถึง ผู้ร้องเสริมหรือคอสอง ของ แม่คู่ หรือ แม่เพลง
อนึ่ง ผู้ร้องเพลงพื้นบ้านแบ่งได้เป็นสองประเภท ได้แก่ ผู้ร้องสมัครเล่น ที่ร้องเล่นเอาสนุก เป็นบางครั้ง ไม่ได้คิดค่าตอบแทน ไม่ได้ฝึกฝนมาโดยตรง และผู้ร้องอาชีพ ที่ฝึกฝนมาอย่างดี เล่นเป็นอาชีพ รับว่าจ้างไปแสดงในงานต่าง ๆ
ลูกคู่ หมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่ร้องรับ ร้องซ้ำความ ร้องสอดแทรกขัดจังหวะ เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน และยังมีหน้าที่ให้จังหวะผู้ร้องโดยการปรบมือ ตีฉิ่ง ตีกรับ ตีกลองและอื่น ๆ สำหรับ ลูกคู่ในวงเพลงสวดมาลัยของภาคใต้ เรียกว่า “คู่หู” ( สุกัญญา ภัทราชัย ๒๕๓๓ : ๓๔๔-๓๔๕ )
ซอ หมายถึง เพลงโต้ตอบ หรือการขับร้องเพลงโต้ตอบของหญิงชายในเขตล้านนาไทย หรือภาคเหนือ
แบ่งครูซอ หมายถึง พิธีเชื้อเชิญวิญญาณผีครูซอมาปกปักรักษาศิษย์และมอบสิทธิ์ให้สอนคนอื่นต่อไป เป็นพิธีที่สำคัญมากของช่างซอ
จ๊อย หมายถึง การนำเอาคำประพันธ์ประเภทหนึ่งของภาคเหนือที่เรียกว่า “ค่าว” มาขับเป็นทำนองสั้น ๆ มักขับคนเดียว เนื้อร้องเป็นบทสั้น ๆ เนื้อหามุ่งแสดงความในใจหรืออารมณ์ต่าง ๆ ( เอนก นาวิกมูล ๒๕๓๓ : ๔๒๒ )
ลำ หมายถึง การร้องเพลงพื้นบ้านของภาคอีสาน
ครูเพลง หมายถึงผู้ที่ชาวเพลงเคารพนับถือในฐานะผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ในการเล่นเพลง ครูเพลงมีสองประเภท ได้แก่ ครูเพลงที่เป็นจิตวิญญาณ อาจเป็นเทพหรือผีที่ศิลปินนับถือ เช่น พระนารายณ์ ฤาษีหรือพ่อแก่ เป็นต้น รวมทั้งครูที่ล่วงลับไปแล้ว และครูเพลงที่เป็นมนุษย์ ได้แก่ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่ามีความรู้และความสามารถสูง เป็นผู้ที่มีคนมาฝากตัวเป็นศิษย์ เช่น แม่บัวผัน จันทร์ศรี แม่ประยูร ยมเยี่ยม ครูชินกร ไกรลาศและแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ เป็นต้น
ครูพักลักจำ หมายถึง ครูที่ผู้ร้องมิได้ฝากตัวเป็นศิษย์โดยตรง แต่แอบฟังแอบจำกลอนเพลงหรือลีลาการร้องการรำแล้วนำมาใช้ในการเล่นเพลงของตน
เพลงตับ หมายถึง เพลงที่ผูกขึ้นเป็นเรื่อง คำว่า “ตับ” หมายถึง บทหรือชุด เช่น เพลงตับตอ เพลงตับชิงชู้ เพลงตับถามบาลี เพลงตับตีหมากผัว เพลงตับหมา เพลงตับรถเครื่อง เพลงตับเช่านา เพลงตับกัดปลาตีไก่ เพลงตับจู๋ เพลงตับผูกรัก เพลงตับบวชนาค เพลงตับเผาศพ เป็นต้น
กลอนหัวเดียว หมายถึง กลอนที่มีคำสุดท้ายของวรรคหลังลงด้วยเสียงสระและเสียงพยัญชนะตัวสะกดเสียงเดียวกันทุกคำกลอน เช่น ลงด้วยเสียงสระไอ เรียกว่า กลอนไล เป็นต้น
กลอนแดง หมายถึง กลอนที่มีคำกล่าวถึงอวัยวะเพศและพฤติกรรมทางเพศอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการเลี่ยง
หักข้อรอ หมายถึง การหยุดและร้องข้ามคำที่กล่าวถึงอวัยวะเพศและพฤติกรรมทางเพศอย่างตรงไปตรงมา เป็นการเว้นวรรคให้ผู้ฟังเติมคำนั้นเองในใจ เพื่อหลีกเลี่ยงความหยาบคายและสร้างความตลกขบขัน
ขึ้นเพลง หมายถึง การเริ่มร้องเพลงโดยการเอื้อนเสียงในลักษณะต่าง ๆ เช่น เพลงฉ่อย พ่อเพลงบางคนจะขึ้นว่า “ เฮิงเงิงเงอเอ่อเอิงเอ๊ย” แม่เพลงจะขึ้นว่า “ เอ๊ย..เอย...” เพลงเต้นกำหรือเพลงเกี่ยวข้าวจะขึ้นว่า “ เอิงเออเอ้อเออ ชะเอิงเอิงเออ ชะเอิงเอิงเอ๊ย” เป็นต้น
ลงเพลง หมายถึง การทอดเสียงหรือหยอดเสียงในตอนท้ายหรือเมื่อร้องเพลงแต่ละบทหรือแต่ละท่อนจบลง ถ้าเป็นเพลงโต้ตอบผู้ร้องมักจะลงเพลงเพื่อให้ลูกคู่รับในตอนท้าย ซึ่งเพลงแต่ละชนิดจะมีลีลาการลงเพลงที่แตกต่างกัน บางชนิด เช่น เพลงฉ่อยและเพลงเกี่ยวข้าว จะลงเพลงตอนท้ายเพียงครั้งเดียว แต่บางชนิด เช่น เพลงอีแซว จะลงเพลง ๒ ครั้งคือทั้งวรรคแรกและวรรคหลัง นอกจากจะลงเพลงในตอนท้ายดังกล่าวแล้ว บางครั้งผู้ร้องก็อาจลงเพลงในช่วงต้นหรือช่วงกลางของเพลงแต่ละบทหรือแต่ละท่อนเพื่อพักเสียงหรือนึกเนื้อเพลงก็ได้
รับเพลง หมายถึง การร้องซ้ำของลูกคู่ ซึ่งอาจร้องซ้ำในส่วนของสร้อยเพลง เช่น ลำตัด ร้องซ้ำวรรคท้าย เช่น เพลงระบำบ้านไร่ เพลงพวงมาลัย ร้องซ้ำสองสามคำท้าย เช่น เพลงอีแซว หรือร้องรับด้วยคำอื่น ๆ เฉพาะเพลงนั้น ๆ เช่น เพลงฉ่อย รับว่า “ เอ่ชา เอชา ชา ฉ่า ฉ่า ชา นอยแม่” เป็นต้น
พานกำนล หมายถึง พานไหว้ครู ประกอบด้วย ดอกไม้ ธูป เทียน เงินไหว้ครู หมากพลู บุหรี่ และอื่น ๆ ตามที่ครูกำหนด ซึ่งชาวเพลงต้องจัดหามาประกอบการร้องเพลงไหว้ครูทุกครั้งที่แสดงหรือประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการไหว้ครู
ยกครู หมายถึง การประกอบพิธีบูชาครูเพื่อมอบตัวเป็นศิษย์อย่างเป็นทางการ บางแห่งเรียกว่า “จับมือ” ซึ่ง ตรงกับคำว่า “ครอบครู” ของนาฏศิลป์ แต่พิธีกรรมจะง่ายกว่า บางคนอาจนำพานกำนล ซึ่งประกอบด้วยดอกไม้ ธูปเทียน หมาก พลู บุหรี่ เข็ม เงินค่ากำนล ไปกราบฝากตัวเป็นศิษย์เท่านั้น หรืออาจจะตั้งเครื่องบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์และครูเพลงเพิ่มขึ้นก็ได้ ส่วนสำคัญอยู่ที่การแสดงออกของครูเพลงว่าได้ยอมรับบุคคลนั้นเป็นศิษย์แล้ว เช่น การจับมือรำ การต่อเพลงปากเปล่า การให้ศิษย์ร้องเพลงไหว้ครู เป็นต้น
ด้นเพลง หมายถึง การแต่งเนื้อเพลงแล้วร้องทันทีขณะที่เล่นหรือแสดง เป็นการคิดหาถ้อยคำอย่างฉับพลัน ซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและปฏิภาณไหวพริบอย่างสูงของผู้ร้อง
ต่อเพลง หมายถึง การฝึกหัดเพลงโดยการจดจำเนื้อร้องจากครูเพลงที่จะบอกให้ทีละบทหรือทีละวรรค เมื่อศิษย์จำได้แล้วก็จะบอกเนื้อร้องบทต่อไปเรื่อย ๆ เป็นการถ่ายทอดเพลงแบบ มุขปาฐะหรือปากต่อปาก
เรียบเรียง:นางสาวภัทรนิดา แถวเพีย
52050899 คณะวิทยาศาสตร์
สาขาเคมีทรัพยากรสิ่งแวดล้อม

0 ความคิดเห็น: